My living room

Our loss is our gain

Tuesday, September 06, 2005

เยือน ‘ดาลอ’ ปอเนาะ 106 ปี หัวใจการศึกษาบนวิถีมุสลิม

โดย ธนก บังผล
ศูนย์ข่าวอิศรา

การที่ยกความผิดให้กับระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนปอเนาะนั้น เป็นคำพูดที่ทำให้ชาวมุสลิมเสียความรู้สึกอย่างที่สุด เพราะปอเนาะคือหัวใจของชาวมุสลิม มีวิถีการสอนเดินไปในทางที่ถูกต้องมา 500 กว่าปี แต่เวลาการบริหารประเทศเพียง 5 ปี กลับสั่นคลอนความมั่นคงได้มากถึงเพียงนี้ น่าคิดว่าปัญหาความรุนแรงเกิดจากปอเนาะหรือ “ใคร”...

“ทหารเข้ามาขวางเราแล้วถามว่ารอให้เช้าก่อนไม่ได้หรือค่อยออกไปละหมาด เขาไม่รู้วัฒนธรรมของเราว่าต้องละหมาดซูโอ๊ะก่อนตะวันขึ้น ฮากันตรึม” บาบอการีม โต๊ะครูแห่งโรงเรียนปอเนาะดาลอ หยอดอารมณ์ขันแต่แฝงด้วยความคันที่อยากระบายมานาน

ความ จริงการนำทหารมาคุ้มครองดูแลพี่น้องชาวมุสลิมกลับไม่มีประโยชน์อย่าง ที่ควรจะเป็น เพราะนอกจากทหารจะไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับวิถีการปฏิบัติของศาสนา อิสลามแล้ว การมีทหารอยู่ยังทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยอีกด้วย ยิ่งข่าวที่ปิดไม่มิดว่าทหารทำชาวบ้านท้องนั้น ดูจะสร้างระยะห่างระหว่างชาวบ้านกับทหารให้มากขึ้น ความไว้เนื้อเชื่อใจก็ลดลง แม้ทหารที่นอกคอกจะเป็นเพียงแกะดำส่วนน้อยก็ตาม

นอกจากวัฒนธรรมในพื้นที่แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐควรลดความระแวงในคนไทยด้วยกัน เรื่องที่ชาวบ้านไปละหมาดปฏิบัติธรรมในมัสยิด กลับถูกมองว่าซ่องสุมปลุกระดมให้เป็นศัตรูกับรัฐ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐฟังภาษาอาหรับและมลายูไม่รู้เรื่อง จึงเหมามั่วไปหมด


“บาบอการีม” โต๊ะครูผู้ดูแลโรงเรียนปอเนาะดาลอ มาเป็นรุ่นที่ 3 แทนเจ้าของเก่าที่มีศักดิ์เป็นพ่อตา วันนี้มีหน้าที่ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งในการนำพาโรงเรียนปอเนาะดาลอ ผ่านพ้นคลื่นอคติในรัฐบาลชุดนี้ไปให้ได้ เพื่อพิสูจน์ให้คนทั้งประเทศเห็นว่าแท้จริงแล้ว ปอเนาะคืออะไร

โรงเรียน ปอเนาะดาลอ อยู่ในพื้นที่กว่า 20ไร่ เขตอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ดำรงสภาพการเป็นโรงเรียนมาแล้ว 106 ปี ไม่เคยมีรั้วรอบขอบชิด สามารถเข้าออกได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นแหล่งผลิตผู้แตกฉานทางศาสนามาแล้วหลายคน ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมว่าเป็นโรงเรียนปอเนาะที่ยังสามารถรักษาระบบการศึกษาที่มีมากว่า 500 ปีได้ดั้งเดิมสมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้

แต่วันนี้โรงเรียนปอเนาะถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะผลิตผู้ก่อความ ไม่สงบ รวมถึงตกเป็นเป้าเพ่งเล็งว่าค้าขายและสั่งสมอาวุธสงคราม ความอึดอัดที่ถูกรัฐยัดเยียดดังกล่าว เปรียบเสมือนรัฐกำลังก่อกำแพงกั้นความเป็นคนไทยไว้เสียแต่ในเมืองหลวงเท่านั้น

“เราเสียใจ และไม่รู้จะอธิบายกับเพื่อนร่วมชาติว่าอย่างไร” โต๊ะครูกล่าวอย่างไร้ความหวัง “ปฏิเสธไม่ได้ว่าสายตาจากคนภายนอกพื้นที่มองมาอย่างไม่สนิทใจ เนื่องจากถ้าใครต่างก็โยนความผิดให้ชาวมุสลิมว่าเป็นผู้ก่อเหตุ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องเป็นคนที่เคยเรียนปอเนาะ”

หลายคนเชื่อว่าน่าจะมีกระบวนการทางการเมือง ที่ต้องการทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเยาวชนที่ปอเนาะจำเป็นต้องมีความคิด ที่รุนแรงทุกคน หากได้สัมผัสบรรยากาศการเรียนรู้ การสอนหนังสือ และการใช้ชีวิตของคนที่มาเรียนศาสนาในปอเนาะดาลอ แม้เพียงครั้งเดียว อาจจะทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างจากภาพที่ได้ถูกนำเสนอเพียงด้านเดียวมาตลอด โดยสิ้นเชิง

นอกจาก “ปัตตานีดาลุสซาลาม” ที่สื่อความหมายว่า ปัตตานีคือดินแดนแห่งสันติสุขแล้ว ยังมีคำกล่าวของอิสลามิกชนทั่วโลกที่สถาปนาฉายาให้กับดินแดนแห่งนี้ไว้ว่า ปัตตานีคือกระจกเงาและระเบียงแห่งเมกกะ นับเป็นการให้เกียรติอย่างสูงสุดถึงการดำเนินวัตรปฏิบัติที่งดงามยาวนานทาง วัฒนธรรม

หรือแม้กระทั่งคำว่า“กรือเซะ” นั้น สามารถแปลได้ว่า “เม็ดทรายที่ขาวสะอาดดุจอัญมณีไข่มุก” ที่ซึ่งบัดนี้กลับถูกตีค่าให้เป็นเม็ดทรายที่มีรอยด่างพร้อยจากโศกนาฏกรรม ความรุนแรง

“เราไม่ใช่พวกที่ลอยแพมาแล้วเรือ แตกมาเกาะหาดอาศัย ประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาที่มีมายาวนาน คือความบริสุทธิ์ เราเผยแพร่ศาสนาด้วยความจริงใจ สอนเพื่อพระอัลเลาะห์ ไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือน ไม่เคยเชิญชวนด้วยใบปลิวให้ใครมาเรียน ไม่มีประกาศนียบัตรให้” บาบอการีมชี้แจง โดยอธิบายระบบการศึกษาของปอเนาะดาลอให้ฟังว่า แต่ละวันในการเรียนการสอนศาสนานั้นจะเน้นอยู่ 5 วิชาหลักๆ คือ “อูซูลุดดีน” ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องหลักศรัทธาในพระเจ้าของศาสนาอิสลาม “ฟิกห์” วิชานิติศาสตร์ในกฎหมายอิสลาม “ตะซอวูฟ” ว่าด้วยเรื่องจิตใจ จริยธรรมโดยขัดเกลาสอนให้นักเรียนเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ มีเมตตา ไม่เย่อหยิ่ง “ตัฟเซร์” ที่ต้องเรียนรู้ถึงบทบัญญัติของพระเจ้าทั้งหมด 6,666 โองการ และสุดท้ายคือ “อัลฮาดีซ” การเรียนรู้เกี่ยวกับพระวัจนะของศาสดามะฮัมบีมูฮัมมัด ซึ่งการเรียนต่อเนื่องทุกหน้าจนกว่าจะจบทั้งเล่ม บางวิชาอาจใช้เวลาเรียนกว่า 2 ปี อย่างเช่น หลักวิชาฟิกห์ และ ตัฟเซร์

“หลักศาสนาของเราไม่สนับสนุนความรุนแรง ยิ่งถ้าฆ่าคนด้วยแล้วถือเป็นบาปหนัก ต้องเสียอูฐพันธุ์ดีที่ตั้งท้อง 100 ตัว คิดเป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาท แล้วต้องสำนึกในบาปที่ทำลงไปต่อพระเจ้าด้วยใจจริง หรือที่เรียกว่า “เตาบัต” ตีความได้อย่างชัดเจนว่าศาสนาอิสลามไม่เคยสอนให้ฆ่าใครทั้งสิ้น เพราะเราเชื่อว่าทั้งชาวมุสลิมและคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาทั้งนั้นทำลายไม่ได้”

บาบอการีม วิเคราะห์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่บนแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พอหอมปากหอมคอว่า การ ที่ยกความผิดให้กับระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนปอเนาะนั้นเป็นคำพูดที่ ทำให้ชาวมุสลิมเสียความรู้สึกอย่างที่สุด เพราะปอเนาะคือหัวใจของชาวมุสลิม มีวิถีการสอนเดินไปในทางที่ถูกต้องมา 500 กว่าปี แต่เวลาการบริหารประเทศเพียง 5 ปี กลับสั่นคลอนความมั่นคงได้มากถึงเพียงนี้ น่าคิดว่าปัญหาความรุนแรงเกิดจากปอเนาะหรือ “ใคร”

คำพูดบางคำของผู้นำรัฐบาลที่หวังดีต่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้แต่ กระทบกับความศรัทธาอันละเอียดอ่อนของพี่น้องชาวมุสลิมหลายต่อหลายคำ หลายต่อหลายครั้ง อาจเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่อย่างน้อยควรคิดให้มากหากจะกล่าวถึงพื้นที่ที่รัฐบาลขีดไว้ให้เป็นสีแดง

เด็กตัวเล็กเจื้อยแจ้วใส่ “กาปิเย๊าะ”(หมวกครอบศีรษะ)วิ่งเล่นรอบต้นไม้ใหญ่ บ้างก็แข่งปั่นลูกข่าง พักผ่อนท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจ้า หลังเสร็จสิ้นภารกิจปฏิบัติธรรมทางศาสนาไปอีกวัน วันข้างหน้าเด็ก หลายๆคนที่จบจากปอเนาะดาลอแห่งนี้ อาจจะเติบโตเป็นโต๊ะครู หรือโต๊ะอิหม่าม สืบสานการเผยแพร่ศาสนาต่อไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า เสียงโหวกเหวกของเด็กๆดังลั่นตามท้ายรถที่ค่อยๆคืบคลานออกจากปอเนาะ ฟังได้ความว่า
“ซือลามัต ญาลัน”...ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ


0 Comments:

Post a Comment

<< Home