เจิ้งเหอ (zheng-He) แม่ทัพเรือผู้ยิ่งใหญ่ของจีน (1)
หากจะกล่าวว่า Ibnu batutah คือมุสลิมยอดนักเดินทางรอบโลกที่มาจากโลกอาหรับ ในซีกโลกตะวันออกก็มีมุสลิมคนหนึ่งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นมังกรแห่งท้องทะเล กับเรื่องราวอันน่าทึ่งกับการเดินทางท่องทะเลรอบโลกของเขา.....
ภายหลังจากราชวงศ์หยวนหรือมองโกลเสื่อมอำนาจ และราชวงศ์หมิงขึ้นมามีอำนาจแทน มีชายหนุ่มมุสลิมคนหนึ่ง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้องค์ชายคนหนึ่งได้มีอำนาจและเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของจีนในเวลาต่อมาคือจักรพรรดิหย่งเล่อ และหนุ่มมุสลิมคนนั้นมีนามว่า....เจิ้งเหอ
ภูมิหลังทางครอบครัว
เจิ้งเหอ (ค.ศ. 1371 – 1433) ถือกำเนิดในครอบครัวมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากเอเชียกลาง เดิมแซ่หม่า (มาจากภาษาอาหรับว่า Muhammad) ชื่อ เหอ เรียกว่า หม่าเหอ และมีชื่อรองว่า ซันเป่า (ภาษาอาหรับคือ Abdul Subbar) เกิดที่เมืองคุนหยาง มณฑลหยุนหนันหรือยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน คุณปู่และพ่อของเจิ้งเหอเคยเดินทางไปยังนครมักกะห์ เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ พ่อของเจิ้งเหอจึงได้รับการเรียกขานด้วยความเคารพว่า หม่าฮาจือ หรือ “ฮัจญี” แม่ของเจิ้งเหอ แซ่เวิน เจิ้งเหอมีพี่ชายชื่อหม่าเหวินหมิง กับพี่สาวอีกสองคน ครอบครัวของเจิ้งเหอเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปในละแวกนั้น เขายังสามารถพูดได้ทั้งภาษาจีนและอาหรับ
เมื่อปี 1381 จูหยวนจางหรือหมิงไท่จู่ (ปีศักราชหงอู่) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ยกทัพมากวาดล้างกองกำลังของมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนที่ยังปักหลักอยู่ในแถบหยุนหนัน ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม เจิ้งเหอที่ขณะนั้นมีวัยเพียง 11 ปี ตกเป็นเชลยศึกของกองทัพหมิง
หลังจากสงครามสงบลง ในปี 1385 เจิ้งเหอติดตามกองทัพหมิงขึ้นเหนือไป เข้าร่วมในสมรภูมิรบทางภาคเหนือ จวบจนอายุได้ 19 ปี จึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ภายใต้ร่มธงของเอี้ยนหวังจูตี้ องค์ชายสี่แห่งราชวงศ์หมิงที่นครปักกิ่ง นับแต่นั้นเจิ้งเหอก็คอยติดตามอยู่ข้างกายของจูตี้ กลายเป็นคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างปี 1399 – 1402 เมื่อจูตี้เปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์กับหลานชายของตน หมิงฮุ่ยตี้ (ปีศักราชเจี้ยนเหวิน) ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากจูหยวนจาง โดยเจิ้งเหอได้สร้างความดีความชอบในศึกครั้งนี้ไว้อย่างมาก ช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์มังกรเป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (ปีศักราชหย่งเล่อ) และในปี 1404 จูตี้พระราชทานแซ่ “เจิ้ง” จึงกลายมาเป็น “เจิ้งเหอ”
ภูมิหลังทางการเมืองของจีนในสมัยนั้น
จูหยวนจาง สถาปนาราชวงศ์หมิง ขึ้นในปี 1368 ขับไล่กองทัพมองโกลออกจากประเทศจีนได้เป็นผลสำเร็จ ปี 1392 จูเพียวโอรสองค์โตสิ้น จูหยวนจางจึงตั้งจูหยุนเหวิน บุตรชายของจูเพียวที่มีวัยเพียง 14 ปีขึ้นเป็นรัชทายาทแทน และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์สืบต่อไป ปลายรัชกาลจูหยวนจางได้ดำเนินการปราบปรามผู้ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สืบทอดราชบัลลังก์ในอนาคต โดยการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์และขุนนางแม่ทัพคนสนิทที่ไม่เห็นด้วย ต่อเมื่อจูหยุนเหวินขึ้นครองราชย์ เป็นหมิงฮุ่ยตี้ บ้านเมืองตกอยู่ในบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองและเต็มไปด้วยความหวาดระแวงไปทั่ว โดยพระองค์ยังคงดำเนินการลิดรอนอำนาจของเหล่าเชื้อพระวงศ์อาวุโสที่เห็นว่าอาจส่งผลบีบคั้นต่อราชบัลลังก์ต่อไป
แต่แล้วเจ้าเอี้ยนหวังจูตี้ ที่มีฐานที่มั่นกล้าแข็งในเป่ยผิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) ยกกองกำลังบุกลงใต้ เข้ายึดเมืองหนันจิงหรือนานกิงไว้ได้ในปี 1402 เมื่อเข้าถึงพระราชวัง เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เผาผลาญพระราชวังชั้นใน แต่ไม่พบพระศพของหมิงฮุ่ยตี้ จึงเป็นที่โจษจันกันว่าพระองค์ยังคงมีชีวิตรอดอยู่ และได้ปลอมเป็นพระภิกษุหลบหนีออกจากนครหลวงสู่ทะเลจีนใต้ อันเป็นที่มาของเสียงเล่าลือว่า จุดมุ่งหมายสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอ แฝงนัยสำคัญทางการเมืองนี้อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่เจิ้งเหอได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการคุมกองเรือขนาดใหญ่นี้ ทั้งที่ในเวลานั้น ได้มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้มากมาย แต่ที่น่าเชื่อถือก็ได้แก่ การที่เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่จูตี้ให้ความไว้วางใจอย่างสูง และเนื่องมาจากความดีความชอบในการบุกเมืองหนันจิง หนุนให้จูตี้ขึ้นสู่บัลลังก์มังกรได้สำเร็จ นอกจากนี้ เป้าหมายในการเดินทางสู่ดินแดนต่างชาติต่างศาสนานั้น คุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นนั้นก็คือ ศาสนา ซึ่งหากพิจารณาจากพื้นฐานครอบครัวของเจิ้งเหอที่เป็นชาวมุสลิม (ทั้งพ่อกับปู่เคยเดินทางไปมักกะห์มาแล้ว) ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความสามารถในการนำทัพเดินทางไกล ซึ่งเจิ้งเหอก็ได้พิสูจน์ความสามารถในการนำทัพมาแล้ว
เป้าหมายในการเดินทาง
การเดินทางของเจิ้งเหอเป็นภารกิจระดับชาติ ดังนั้นการที่ราชสำนักหมิงส่งเจิ้งเหอพร้อมกับขบวนเรืออันมโหฬารออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ย่อมต้องมีนัยสำคัญของชาติ แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงอันเป็นที่มาของตำนานการเดินทางอันยาวนานของเจิ้งเหอยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน ได้มีผู้เสนอแนวคิดหลักเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการเดินทางไว้ดังนี้
1. คลี่คลายปัญหาในการสืบราชบัลลังก์ การค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงแก่ราชบัลลังก์ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ)
2. ประโยชน์ทางการเมือง การเดินทางของเจิ้งเหอมีภารกิจในการผลักดันให้เกิดความสงบมั่นคงในดินแดนรอบข้างทางตอนใต้ ทั้งนี้ก็เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากภัยคุกคามทางภาคเหนือ (มองโกล) ให้กับราชสำนักจีน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนในเขตเอเชียอาคเนย์กำลังเกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชวา สยาม (อยุธยา+ ละโว้) และมะละกา)
และสำหรับอาณาจักรมะละกาที่สามารถรอดพ้นจากการขยายอำนาจอยุธยาไปได้ เจิ้งเหอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมะละกากับราชวงศ์หมิงแน่นแฟ้น ที่สนับสนุนมะละกาให้ปลอดจากอำนาจอยุธยา มะละกาจึงสามารถตั้งตัวเป็นอาณาจักรและเมืองท่าที่ปลอดจากอำนาจของไทยไปได้
3. ประโยชน์ทางการทูต เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ไปยังเขตแคว้นต่างๆ สร้างกระแสภาพลักษณ์แห่งความเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งให้กับจีน และเป็นการทูตเชิงสร้างสรรค์ มิตรภาพ ไม่ใช่การรุกรานประเทศอื่น
4. บุกเบิกกิจการค้าทางทะเล ที่ให้ผลกำไรอย่างงดงาม โดยสินค้าที่นำไปค้าขายแลกเปลี่ยน ได้แก่ แพรไหม ผ้าปักอันงดงาม เครื่องเคลือบกังไส ใบชา เครื่องทอง สัมฤทธิ์ และน้ำมันพืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น
0 Comments:
Post a Comment
<< Home