My living room

Our loss is our gain

Friday, September 09, 2005

“ดูซง” วิถีป่าชุมชนเชื่อมสัมพันธ์ของมุสลิม


โดย ฮัมดัน ตามาซอ


ดูซง หรือที่เรียกแทนสวนผลไม้ที่มีการครอบครองร่วมกันของคนในชุมชน โดยสวนผลไม้ดังกล่าวนี้เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ดังนั้น สิทธิประโยชน์จากดูซงจึงตกเป็นของคนในชุมชน ซึ่งผูกพันกันเป็นพี่น้องเครือญาติ ระบบดูซง เป็นระบบการจัดการทรัพยากรที่ดิน (สวน ป่า ไร่ผลไม้ ฯ) ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษบนพื้นฐานความเท่าเทียมยุติธรรม ซึ่งใช้ทั่วไปในชุมชนมลายูมุสลิมแถบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) โดยส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ท้องถิ่น เช่น ดูซงดือฆีแย(สวนทุเรียน) ดูซงญอ ( สวนมะพร้าว) เป็นต้น

คำว่า ดูซง มีความหมายตาม Kamus Dewan ( พจนานุกรมภาษามลายู ของสภาภาษาและหนังสือมาเลเซีย) ดังนี้ คือ Dusun (อ่านว่า ดูซุน หรือ ดูซน ) หมายถึง Kebun buah-buahan แปลเป็นไทยว่า สวนผลไม้นานาชนิด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในแถบ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่แถบหุบเขาซึ่งมีที่ดินเหมาะแก่การปลูกผลไม้เมืองร้อนนั้น ได้มีการนำระบบดูซงมาใช้กับสวนผลไม้ของคนในชุมชน ซึ่งสวนนี้ประกอบไปด้วยผลไม้นานาชนิดที่เครือญาติร่วมกันปลูกและดูแล รวมทั้งผลไม้ที่บรรพบุรุษ พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ได้ปลูกในอดีตให้ลูกหลานในปัจุบันได้เก็บเกี่ยวผลผลิต และช่วยกันดูแลรักษาสวนดังกล่าวไว้

ระบบดูซงจึงเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนมลายู มุสลิมที่นี่ แสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรและช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ญาติมิตรที่ค่อนข้างเข้มแข็งให้แก่เครือญาติและคนในชุมชน ด้วยวิธีการจัดการผลผลิตจากดูซงแบบสมานฉันท์ เท่าเทียมกันตามหลักการอิสลาม เป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในชุมชน แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน นำมาสู่ความประนีประนอม เกิดความสงบสุขขึ้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งเคยได้สัมผัสการใช้ระบบดูซงในชุมชน จึงขอยกตัวอย่างสวนผลไม้บริเวณบ้าน เมื่อก่อนเป็นที่ดินผืนใหญ่เพียงแปลงเดียวไม่มีโฉนด แต่ชุมชนซึ่งเป็นเครือญาติเป็นผู้ถือครองและได้รับประโยชน์ร่วมกัน ( สิทธิเชิงซ้อน ) ใครอยากปลูกอะไร ทำอะไรเชิญปลูกได้ทำได้ตามสะดวก ส่วนผลผลิตที่ได้มานั้น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคนว่าควรจะแบ่งให้คนอื่นๆที่มีสิทธิครอบครอง นั้นหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่ มักจะแบ่งปันผลผลิตจากการเกษตร ให้ทุกคนไม่มากก็น้อย ส่วนต้นทุเรียนใหญ่ๆ ก็จะไม่มีการโค่นถ้าไม่เป็นมติของผู้ร่วมถือกรรมสิทธิ์ จึงสัมพันธ์กับการที่ชาวเหนือเรียกร้องเรื่องป่าชุมชน อนุมานได้ว่า ระบบดูซงในชุมชนมลายูมุสลิมน่าจะไม่แตกต่างกับกับระบบป่าชุมชนในภาคเหนือ

ระบบดูซง สอนให้คนรู้จักความความพอเพียง พออยู่ พอกิน โดยในอดีตผลไม้ในดูซงใครอยากเก็บไปกินก็เก็บไปได้ตามสบาย ไม่มีใครมุ่งแต่จะเก็บไปขายเอาเงินเหมือนในปัจจุบัน และยังสอนให้คนรู้จักความประนีประนอมด้วยการแบ่งปัน การจัดเวรเก็บทุเรียนที่หล่นจากต้น นับเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานความพออยู่พอกิน และความสัมพันธ์ที่ดีของชุมชน ตลอดจนการแสดงให้เห็นว่า ใครที่อยู่ในบริเวณใกล้ดูซงหรือใครมีสิทธิในดูซงนี้ ก็คือญาติพี่น้องกันนั่นเอง เพราะดูซงนี้เป็นที่ดินของคนๆเดียวคือทวดของทวดของทวดของทุกคน สรุปก็คือเป็นของทุกคน

นอกจากนี้ ดูซง ยังเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานไปด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ใครอยากปลูกอะไรก็ได้ ใครอยากเลี้ยงสัตว์อะไรในดูซงก็เชิญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นชอบชุมชนหรือผู้ร่วมถือกรรมสิทธิ์ด้วย จึงจะไม่เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกัน และด้วยความเป็นพี่น้องกันที่แสดงออกโดยระบบดูซงทำให้ปัญหาความขัดแย้งกันใน ชุมชนจึงไม่เกิดขึ้น

ผลผลิตจากดูซง อาทิ ทุเรียน ได้มีการนำทุเรียนไปทำเป็นข้าวเหนียวทุเรียน จัดเป็นงานบุญ เลี้ยงคนในชุมชน ตลอดจนการเชิญเด็กปอเนาะมาร่วมรับประทานถือเป็นการทำบุญก่อเกิดความสัมพันธ์ อันดีขึ้น โดยที่ทั้งหมดเป็นเจ้าภาพร่วมและอิ่มบุญไปตามๆกัน

ปัจจุบันไม่ค่อยมีระบบดูซงแล้ว เนื่องจากวิถีชีวิตในชุมชนต่างคนต่างอยู่และทำมาหากินต้องต่อสู้กับความยากจนที่มาจากการให้ความหมายโดยทุนนิยม โดยผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ได้ทำให้ระบบดูซงสลายไปเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ คือ

1.นโยบายรัฐ ที่กำหนดให้ผู้ที่ถือครองที่ดินต้องมีโฉนดหรือหลักฐานการครอบครอง ทำให้คนในชุมชนต้องมาตัดแบ่งที่ดินน้อยนิดในชุมชนให้แต่ละคน อาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่ยุติธรรมและเกิดความขัดแย้ง ความไม่พอใจขึ้นได้

2. ทุนนิยม การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ความคลั่งไคล้ในวัตถุนิยม ความไม่รู้จักพอเพียงอันสืบเนื่องจากวัฒนธรรมของทุนนิยม ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา จึงขอแบ่งที่ดินดูซงไปขายเพื่อปลดหนี้ ก่อเกิดความขัดแย้ง ปัญหาต่างๆมากมายในชุมชน และที่สำคัญคือการแย่งชิงที่ดินกันของญาติพี่น้อง

ความโดดเด่นสวยงามของระบบวิถีชีวิตวัฒนธรรมมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นนี้ น่าจะเป็นต้นทุนสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาโดยเอาแนวทางสันติวิธีเป็นจุดยืน โดยมีต้นทุนที่สำคัญได้แก่ ศาสนาที่เข้มแข็ง ระบบนิเวศทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และ ความสัมพันธ์เป็นชุมชนเครือญาติของประชาชน ต้นทุนทั้ง 3 ประการเชื่อมโยงกันเป็นเกราะป้องกันปัญหาการคุกคามจากทุนนิยมและอำนาจรัฐที่ ไม่เป็นธรรมได้



ที่มา: ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
http://www.tjanews.org

0 Comments:

Post a Comment

<< Home