My living room

Our loss is our gain

Saturday, August 13, 2005

Introduction to Islam (4)



หลักจริยธรรมอิสลาม

นอกจากหลักการอิสลาม และหลักการศรัทธาและคำสอนของอิสลามพอสังเขปที่กล่าวมาข้างต้น ศาสนาอิสลามยังประกอบด้วย หลักการพื้นฐานสำคัญอีกหลักการหนึ่งคือ หลักจริยธรรม หรือคุณธรรม อันเป็นหลักจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับมารยาทและคุณธรรมทางจิตใจ ตลอดจนความประพฤติปฏิบัติอันดีงาม ซึ่งเรียกรวมกันว่า “อิหซาน”

คุณธรรมอันสูงสุด คือการที่มนุษย์สำนึกในความเป็นข้าทาสของตนเองต่อหน้าพระเจ้า ด้วยใจอันบริสุทธิ์ จิตใจผูกพันกับพระองค์ตลอดเวลา ท่านศาสดามูฮัมหมัด กล่าวไว้ความว่า

“อิหซาน คือการที่ท่านปฏิบัติการเคารพภักดีอัลลอฮ ประหนึ่งท่านเห็นพระองค์แม้ข้อเท็จจริงท่านไม่สามารถเห็นพระองค์ก็ตาม แต่พระองค์ก็มองเห็นท่าน”

ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้านั้น จะเป็นสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่น ซึ่งก่อให้เกิดความประพฤติที่ดีงาม ทั้งที่กระทำต่อพระเจ้า และกระทำต่อมนุษย์ สายสัมพันธ์สองด้านนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสันติสุขและสันติภาพถาวรขึ้นในโลกนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า
1. สัมพันธ์กับพระเจ้า ทำให้มนุษย์มีจิตยำเกรง สำรวมต่อพระองค์
2. สัมพันธ์กับมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความประพฤติที่ดีต่อกัน หวังดีต่อกัน และหากใครขาดสายสัมพันธ์ทั้ง 2 นี้ คือ หัวใจเขาไม่สัมพันธ์กับพระเจ้า และไม่สัมพันธ์กับมนุษย์เขาก็จะตกต่ำอยู่ในความอัปยศ ดังที่พระเจ้ากล่าวไว้ความว่า

“พวกเขาจักประสบความตกต่ำไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ยกเว้น โดยเหตุที่พวกเขามีสัมพันธ์ต่ออัลลอฮและสัมพันธ์ต่อมนุษย์” (อัลกุรอ่าน, 3:112)

หลักจริยธรรมอิสลาม แบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ
1. จริยธรรมที่ต้องประพฤติ และ
2. คุณลักษณะที่ต้องละเว้น

1.จริยธรรมที่ต้องประพฤติ

หมายถึงความดีต่างๆที่ต้องประพฤติอยู่เสมอ อันได้แก่ หน้าที่และมารยาทที่ต้องแสดงออกและคุณสมบัติที่ดีทางจิตใจเช่น

1. หน้าที่ของมนุษย์ต่อพระเจ้า ต้องระลึกเสมอว่า ตัวเองอยู่ต่อหน้าพระเจ้า พระองค์ทรงมองเห็นอยู่ตลอดเวลา จึงต้องทำแต่ความดี มีมารยาท และละเว้นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติของพระองค์

2. หน้าที่ของผู้รู้ ครูและผู้รู้โดยทั่วไป จะต้องสำนึกอยู่ตลอดเสมอว่า ความรู้ที่ตนได้มานั้น เป็นไปโดยความเมตตาของพระเจ้าทรงประทานให้ ดังนั้นจึงต้องเผยแพร่ต่อให้ผู้อื่นได้รับความรู้นั้นโดยไม่มุ่งอามิสสินจ้างใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่นำความรู้ไปสร้างสมอำนาจบารมี หรือนำความรู้ไปแข่งขันกับใครหรือทับถมผู้อื่น ๆ หรือหาประโยชน์อันมิชอบ

3. หน้าที่ของผู้ไม่รู้ ผู้ไม่รู้จะต้องศึกษาหาความรู้ ความรู้มิได้จำกัดแต่เฉพาะความรู้ทางด้านศาสนาหรือด้านสามัญอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น มุสลิมจะต้องเรียนรู้ความรู้ทั้งสองด้าน จนสามารถนำความรู้ความสามารถไปประพฤติทางด้านศาสนาอย่างดี และนำความรู้สามัญหรือวิชาชีพไปประกอบสัมมาอาชีพต่อไป และผู้เรียนรู้ทุกคนจะต้องให้ความเคารพต่อผู้สอน มีความนอบน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพ อ่อนโยน และคอยอุปถัมภ์ผู้สอนของตนอยู่เสมอในยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือ

4. หน้าที่ของลูก ลูกทุกคนมีหน้าที่ต้องระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ ต้องมีความกตัญญูต่อท่านทั้งสอง ต้องอุปการะท่านทั้งสอง และปรนนิบัติต่อทั้งสองอย่างดีที่สุด ดังที่พระเจ้ากล่าวไว้ในอัลกุรอ่าน หลายครั้ง เช่น

" และพระเจ้าของเจ้าได้บัญชาว่า พวกเจ้าทั้งหลายอย่าเคารพภักดีสิ่งอื่นใด นอกจากพระองค์เท่านั้น และจงทำดีต่อบิดามารดาทั้งสอง แม้นว่ามีคนหนึ่งจากทั้งสองหรือทั้งสองคนก็ตามได้บรรลุวัยชราอยู่กับเจ้า ก็จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า "อุฟ" (คำอุทานแสดงความเบื่อ ความรำคาญและรังเกียจ) เจ้าอย่าขู่ตะคอกแก่ทั้งสอง และจงพูดกับท่านทั้งสองด้วยคำพูดที่อ่อนโยน และเจ้านอบน้อมแก่ทั้งสองด้วยความเมตตา และจงกล่าวขอพรให้แก่ทั้งสองว่า ข้าแต่พระเจ้าของฉัน โปรดเมตตาท่านทั้งสอง ประดุจเดียวกับที่ท่านทั้งสองชุบเลี้ยงข้าพเจ้ามาแต่เยาว์วัยด้วยเทอญ " (อัลกุรอ่าน, 15:23-24)

และอีกโองการหนึ่งความว่า :

"และเราได้สั่งการแก่มนุษย์เกี่ยวกับบิดามารดาของเขา โดยที่มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขา อ่อนเพลียลงครั้งแล้วครั้งเล่า (คือเราได้ใช้ให้เขาทำความดีต่อบิดามารดา โดยเฉพาะมารดาของเขาที่ได้อุ้มครรภ์เขา ซึ่งนางจะอ่อนเพลียลงทุกวัน ตั้งแต่วันตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด) และการหย่านมของเขาในระยะเวลาสองปี และเจ้าจงขอบคุณบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้นคือการกลับไป "
(อัลกุรอ่าน,21:14)

5. หน้าที่ของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่มีลูกก็ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างดี ให้การดูแลให้ความสุขให้การศึกษา อบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีมีคุณธรรม เพราะลูกนั้นเป็นอามานะห์ (ความรับผิดชอบ) และของขวัญที่พระเจ้ามอบให้ ดังนั้นต้องปกป้อง ดูแล เป็นแบบอย่างที่ดีให้อย่างดีที่สุด ดังที่นักปราชณ์คนหนึ่งของอิสลาม กล่าวไว้ว่า

“การเป็นแบบอย่างที่เลวร้ายเพียงครั้งเดียว เพียงพอในการที่จะทำลายทุกอย่างที่ได้สร้างสมมา ครั้งเดียวที่เด็กเห็นว่าคุณแม่โกหกคุณพ่อหรือคุณพ่อโกหกคุณแม่หรือคนใดคนหนึ่งโกหกเพื่อนบ้าน สามารถจะทำลายคุณค่าความซื่อสัตย์ที่มีอยู่ในตัวเด็กได้ แม้นว่าพ่อและแม่จะสั่งสอนทุกวันและทุกชั่วโมงให้เด็กมีความซื่อสัตย์ก็ตาม จากการกระทำดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะทำลายสัจจะที่มีอยู่ในตัวเด็ก แม้ว่าเด็กจะได้รับการสั่งสอนในลักษณะเข้มข้นก็ตาม ครั้งเดียวที่เด็กเห็นผู้ใกล้ชิดกับตัวเขาเป็นแบบอย่างในการลักขโมยถือว่าเป็นหลักประกันที่ดีที่จะทำลายคุณค่าของความสุจริตในตัวเด็ก”

6. หน้าที่ต่อเพื่อน คนทุกคนมีเพื่อน ไม่ว่าเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนบ้าน จนกระทั้งเพื่อนร่วมโลก ทุกคนต้องหวังดีต่อกันมีความประพฤติดีต่อกัน ซึ่งจะทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

7. หน้าที่ของสามี สามีต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการดูแลปกป้องครอบครัว และการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวและเป็นที่พึ่งของครอบครัว มีความประพฤติที่ดีงาม ต่อคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ต้องให้เกียรติแก่ภรรยาทั้งต่อหน้าลับหลัง ดังในอัลกุรอ่าน ความว่า

“และพวกเจ้าจงปฏิบัติต่อพวกนางด้วยคุณธรรม” (อัลกุรอ่าน, 4:19)

8. หน้าที่ของภรรยา ภรรยามีหน้าที่ช่วยเหลือสามีในด้านต่าง ๆ ให้เกียรติสามีและปฏิบัติตามคำสั่งของสามีตราบใดที่คำสั่งนั้นมิได้นำไปสู่การฝืนบทบัญญัติของพระเจ้า ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด กล่าวไว้ความว่า :

“หากว่าฉันให้ผู้หนึ่งซูญุด (ก้มกราบ) ต่ออีกผู้หนึ่งได้แล้ว แน่นอนฉันจะใช้ภรรยาซูญุดต่อสามีของนาง”

ทั้งนี้เนื่องจากอิสลามห้ามมิให้มนุษย์ก้มกราบสิ่งอื่นใด นอกจากพระเจ้า ดังนั้นการเปรียบเปรยที่ท่านศาสดากล่าวไว้ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ภรรยาต้องแสดงต่อสามี แม้แต่การก้มกราบก็ให้ทำได้ ถ้าเป็นสิ่งที่มุสลิมสามารถทำได้

9. หน้าที่ของผู้นำ ผู้นำทางสังคมในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ถูกแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ตาม จะต้องปฏิบัติตนต่อผู้ตาม ด้วยความเมตตา และด้วยความนอบน้อม ไม่ถือตัวพูดจาสุภาพอ่อนโยน เมื่อจะใช้อำนาจก็ต้องใช้ด้วยความยุติธรรม มีความกล้าหาญและกล้าตัดสินใจ ไม่ลังเล อ่อนแอขลาดกลัว ต้องประพฤติดีพร้อมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประชาชน ต้องเสียสละทุกสิ่งเพื่อประชาชน

10. หน้าที่ของประชาชน ประชาชนในฐานะผู้ตามจะต้องเคารพผู้นำ และกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาโดยชอบธรรม ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันก็สามารถต่อต้านหรือต่อสู้กับผู้นำที่อธรรมได้

2. คุณลักษณะที่ต้องละเว้น

มีคุณลักษณะที่มุสลิมต้องละเว้นมากมาย ล้วนเป็นข้อห้ามที่อิสลามได้บัญญัติไว้ พอสรุปได้ดังนี้

1. เกี่ยวกับคุณลักษณะด้านร้ายทางจิตใจ ซึ่งใครก็ตามที่มีจะทำให้หัวใจของเขามืดบอด เช่น ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเกลียดชัง ความตระหนี่ ความหลง ความโลภ ความยโสโอหัง ความลำพอง ความโอ้อวด เป็นต้น

2. เกี่ยวกับความประพฤติโดยทั่วไป เช่น ความฟุ่มเฟือยในการบริโภค, การพูดมากในสิ่งที่ไร้สาระ, ความเกียจคร้าน, การเอารัดเอาเปรียบ, การดูถูกคนอื่น, การรังแกเพื่อนมนุษย์, การฉ้อโกง, การนินทาใส่ร้ายส่อเสียด, การลักขโมยการปล้นและฉกชิงวิ่งราว, การล่วงประเวณี, การลักเพศ, การพนัน, การประกอบอาชีพทุจริต, การดื่มสุราเสพของมึนเมา, การกินดอกเบี้ย, การบริโภคสุกร สุนัข เลือด สัตว์ที่ตายเอง,การประทุษร้ายต่อผู้อื่น, การค้ากำไรเกินควร, การกักตุนสินค้า เป็นต้น

3. เกี่ยวกับคุณลักษณะและความประพฤติที่มีผลต่อการศรัทธา ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้มีผลทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติต้องสิ้นสภาพการเป็นอิสลามทันที เช่น การนับถือสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ, กระทำการอันเป็นเหยียดหยามต่อพระเจ้า เทวฑูต ศาสดา คัมภีร์และต่อบทบัญญัติของศาสนา,การประวิงเวลาการเข้ารับอิสลามของผู้อื่น, ใช้คำพูดกล่าวหามุสลิมว่ามิใช่มุสลิม, การเชื่อถือโชคลาง ของขลัง เวทมนต์คาถา, ปฏิบัติพิธีกรรมของลัทธิความเชื่อของศาสนาอื่น, ใช้คำพูดแสดงไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติศาสนกิจ, ใช้คำพูดหรือเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของศาสนา, ปฏิเสธอัลกุรอ่าน, สงสัยหรือปฏิเสธในหลักศรัทธา เป็นต้น (กรมการศาสนา,2542:77-82)

นอกจากนี้แล้วยังมีหลักจริยธรรมอื่น ๆที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

· ความสะอาด หมายถึงความสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้ง บริโภคอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย
· ความโอบอ้อมอารี คือการช่วยเหลือกันอย่างเต็มอกเต็มใจ ช่วยเหลือ ญาติพี่น้อง ตักเตือนมิให้ผู้อื่นทำบาป ชี้ทางแก่คนแปลกถิ่น เป็นต้น
· ความอดทน คือการยอมรับการทดสอบจากอัลลอฮ ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวัง ความสูญเสีย ความยากเข็ญแสนสาหัส และรวมถึงความอดทนในการทำความดีและอดทนในการละเว้นความชั่ว
· ความถ่อมตน เมื่อมุสลิมประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน จะต้องนอบน้อมถ่อมตน ไม่ทะนงตนว่าวิเศษเหนือกว่าคนอื่น และต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเป็นเพราะความกรุณาของอัลลอฮที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
· ความละอาย ให้มีความละอายต่อการกระทำที่จะทำบาปทุกชนิด ทั้งในที่เปิดเผยและในที่ลับ
· ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึงการซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ ต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและสังคม
· ความยุติธรรม จะนำมาซึ่งความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สินและเกียรติยศ รวมทั้งความผาสุกในสังคม
· ความตั้งใจจริง มีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง สังคม โดยหวังการตอบแทนผลบุญจากพระเจ้า
· การกลับเนื้อกลับตัวโดยต้องสำรวจตนเองจากการทำความผิดต่าง ๆ ทุกวัน ทั้งนี้เพื่อทำให้ตนเองปราศจากมลทินและความผิดต่าง ๆ พร้อมทั้งทำการกลับเนื้อกลับตัวหรือ เตาบัตต่ออัลลอฮ โดยจะไม่กลับไปทำสิ่งนั้นอีก มิฉะนั้นความผิดข้างต้นจะส่งผลทำให้ต้องถูกสอบสวนในวันกียามัต
· การระมัดระวังต่อการกระทำความผิด ต้องระมัดระวังตนเองต่อการกระทำความผิดในทุกโอกาส ให้รำลึกอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงเห็น ทรงรู้ ทั้งในสถานที่ลับและที่เปิดเผย ทรงคอยเฝ้ามองการกระทำและการแสวงหาของมนุษย์ตลอดเวลา และจากการมีจิตสำนึกแห่งการระมัดระวังตนเองมิให้กระทำความผิดนี้ จะเป็นการสร้างพฤติกรรมที่ดีงามในตัวมนุษย์ได้เป็นอย่างดีที่สุด
· การทบทวนตนเอง โดยที่มุสลิมจะต้องทบทวนตนเองอยู่ตลอดเวลา หมายถึงการขัดเกลาอบรมจิตใจและมารยาทของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อให้อัลลอฮพึงพอใจ
· การยืนหยัดต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง อีกทั้งยังต้องต่อสู้กับการล่อลวงของมารร้าย (ซาตาน) ที่คอยกระซิบกระซาบให้กระทำสิ่งที่ชั่วช้าต่าง ๆ ตลอดเวลา รวมถึงต้องต่อสู้กับศัตรูของอิสลาม ไม่ว่าจะในสมรภูมิหรือด้านวัฒนธรรมก็ตาม ดังนั้น วิถีชีวิตของมุสลิมจึงเต็มไปด้วยการต่อสู้ เพื่อยืนหยัดบนหลักการอย่างเหนียวแน่นและมั่นคง
· ไม่ฆ่าลูกของตนหรือทำแท้งเพราะกลัวความยากจน เพราะการมอบปัจจัยยังชีพนั้นเป็นหน้าที่ของอัลลอฮ ดังนั้นผู้เป็นพ่อแม่ไม่ต้องกลัวความยากจนเนื่องจากการมีลูก หรือฆ่าลูกของตนเพราะกลัวว่าพวกเขาจะมาแย่งปัจจัยยังชีพของตน

ดังนั้นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมต้องน้อมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่อัลลอฮและศาสดาสอนไว้ และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องเรียนรู้ในหลักคำสอนของศาสนา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน เพราะการได้ชื่อว่า นับถือศาสนาอิสลามนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะนับถือตามบรรพบุรุษ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนของอิสลามในทุกด้านด้วย


อ้างอิงจาก

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ,2542.ศาสนาอิสลามในประเทศไทย.กรุงเทพฯ:

โรงพิมพ์กรมการศาสนา

สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ,2543. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย.

อัลมาดีนะห์ อัลมูเนาววาเราะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาราเบีย: ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอ่าน

อบุล อะลา มาวดูดี (บรรจง บินกาซัน แปล),2542.ระบอบชีวิตอิสลาม.กรุงเทพฯ:

อัล-อามีน

อรุณ บุญชม (แปล),มปป.หะดีษเศาะหี้หฺ”.กรุงเทพฯ:ส.วงศ์เสงี่ยม

Maududi,Abu’l A’la,1965.Islamic Way Of Life. Lahore: Islamic Publications Ltd.


0 Comments:

Post a Comment

<< Home