Introduction to Islam (3)
คำสอนของอิสลามโดยสังเขป
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจอิสลามในด้านของการปฏิบัติอย่างผิวเผินเท่านั้น เช่นมุสลิมไม่กินหมู มุสลิมเป็นคนที่ใส่หมวกหรือเอาผ้าโพกศีรษะ หากเป็นผู้หญิงก็เอาผ้าคลุมศีรษะหรือไม่ก็มีภรรยาได้ถึงสี่คน ทั้งๆที่อิสลามมีคำสอนที่ครอบคลุมมากกว่านั้นมาก
ที่มาของคำสอนของอิสลาม มีที่มาจากคำสอนของอัลลอฮในอัลกุรอ่าน และคำสอนของศาสดามูฮำหมัด ที่เรียกว่า ซุนนะห์หรือแบบอย่างของท่านศาสดา ซึ่งมีการรวบรวมเป็นตำราที่เรียกว่า อัลฮาดิษ ถือเป็นคำสอนที่สำคัญรองมาจาก อัลกุรอ่าน คำสอนของอิสลามโดยสังเขปมีดังนี้
1. อิสลามเป็นศาสนาที่สอนเรื่องการศรัทธา และยึดมั่นในพระเจ้าองค์เดียว นั่นคือ อัลลอฮฺผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งที่สร้างขึ้นมาอยู่ในความสมบูรณ์ ด้วยการวางกฎระเบียบและทรงนำทางทุกสรรพสิ่งและทรงเป็นที่พึ่งของมนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่าง
2. อิสลามสอนเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อเป็นการยืนยันถึงความศรัทธาในหลักการอิสลาม และฝึกฝนอบรมมุสลิมให้เกิดความยำเกรง และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำบัญชาอื่นๆของพระองค์ที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่านและแบบอย่างคำสอนของท่านศาสดา
3. อิสลามสอนเรื่องด้านสังคม โดยถือว่ามนุษย์จะอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวไม่ได้ มนุษย์จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ต้องมีคู่ครองมีบุตรสืบตระกูล จึงต้องมีพิธีการสมรส นอกจากนั้นแล้วในการดำเนินชีวิตประจำวัน มนุษย์จำเป็นต้องมีการประกอบอาชีพ การค้าขาย แลกเปลี่ยนปัจจัยยังชีพ อิสลามจึงมีคำสอนเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว การแต่งงาน การหย่าร้าง การค้า การกู้หนี้ยืมสิน การเช่า การขอยืม การทำสัญญาและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆด้านไว้ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันในสังคมอันเป็นเป้าหมายที่อิสลามต้องการ
4. อิสลามถือว่ามุสลิมที่ฝ่าฝืนศาสนา คือผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม เช่น การลักขโมย การคดโกง การปล้นสะดม การฉุดคร่าอนาจารและการข่มขืน การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เป็นต้น เป็นสิ่งที่ต้องห้าม อิสลามจึงมีบทกำหนดลงโทษไว้โดยที่ศาสนาอื่นๆ ถือเป็นเรื่องบาปกรรม และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายบ้านเมือง ในขณะที่อิสลามมีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือกติกาเพื่อความสงบสุขในสังคม ที่เรียกว่า “ชารีอะห์” โดยกำหนดบทลงโทษตั้งแต่ในโลกนี้จนถึงโลกหน้า เช่น การผิดประเวณีของคนโสดจะต้องถูกลงโทษด้วยการโบย 100 ครั้ง หากมีชู้จะต้องถูกลงโทษ ด้วยการฝังที่ทางสามแพร่งและต้องขว้างด้วยก้อนหินจนตาย หากลักขโมยจะต้องถูกตัดมือ หากปล้นแล้วฆ่าเจ้าทรัพย์ก็จะต้องถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตสถานเดียว
ส่วนในโลกหน้าก็ได้สอนไว้ว่าผู้ที่ก่อกรรมดีหรือกรรมชั่วบนโลกนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนในโลกหน้านั้นคือได้เข้าสวรรค์หรือลงนรก ปัจจุบันประเทศมุสลิมหลายประเทศก็ได้นำหลักชารีอะห์มาใช้เป็นกฎหมายของประเทศ เช่น ประเทศซาอุดิอารเบีย จะมีบทลงโทษประหารชีวิตด้วยการตัดคอกับคนที่ก่อคดีฆ่าผู้อื่น หรือหลายประเทศมีศาลชารีอะห์ไว้พิจารณาคดีสำหรับมุสลิมที่เกี่ยวกับคดีครอบครัว มรดก เช่น ในประเทศมาเลเซีย จะมีศาลสองประเภทคือ ศาลชารีอะห์และศาลทั่วไป เพราะประชาชนในประเทศของเขามีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา แต่ไม่มีการบังคับว่าผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็ต้องขึ้นศาลชารีอะห์เช่นเดียวกับมุสลิม (รายละเอียดของหลักชารีอะห์นั้นมีอีกมาก ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องการก่ออาชญากรรมเท่านั้น แต่จะครอบคลุมทุกด้านของระบบทางสังคม เช่น เกี่ยวกับครอบครัว การค้าขาย การเงินการธนาคาร การเมืองการปกครอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักชารีอะห์เช่นกัน)
5. อิสลามสอนในเรื่องความเท่าเทียมกันทางสังคม โดยมีตัวอย่างหลักปฏิบัติหลายประการ ที่บ่งชี้ว่า อิสลามเน้นความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น ในเดือนรอมฏอน มุสลิมทุกคนไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น กษัตริย์หรือผู้ปกครอง เศรษฐีหรือคนยากจน ไม่สามารถจ้างคนอื่นมาถือศีลอดแทนกันได้ต่อให้มีเงินมากมายก็ตาม ทุกคนต้องลิ้มรสความหิว โดยต้องถือศีลอดเหมือนกันและพร้อมกันทั่วโลก หรือในกรณีการทำละหมาด แม้ว่าผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมต่างกัน ก็ต้องละหมาด 5 เวลาเหมือนกัน รูปแบบเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกประเภทว่า คนชั้นสูงต้องละหมาดอีกแบบหนึ่ง คนธรรมดาต้องละหมาดอีกแบบหนึ่ง หรือในการประกอบพิธีฮัจย์ ก็ต้องประกอบพิธีในสถานที่เดียวกัน ขั้นตอนเหมือนกัน ไม่ได้แบ่งแยกว่าผู้ปกครองจะต้องมีเขตพิเศษเฉพาะ เพราะมุสลิมทุกคนเป็นบ่าวของอัลลอฮอย่างเท่าเทียมกัน
ดังนั้นอิสลามจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั้งตาย ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงเป็นระบอบของการดำเนินชีวิต (The Way of Life) มิใช่สอนแต่เรื่องห้ามกินหมู เพราะไม่เฉพาะหมูเท่านั้นที่ห้าม ยังมีอาหารอื่น ๆ อีกที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้กิน เช่น สัตว์ที่ตายเอง สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร สัตว์ที่มีเขี้ยวและดุร้าย สัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น หรือได้รับอนุมัติให้กิน เช่น ไก่ วัว เป็นต้น หากไม่ได้รับการเชือดและทำความสะอาดตามกระบวนการที่อิสลามกำหนดถือเป็นสิ่งต้องห้ามให้กินเช่นกัน หรือที่มักได้ยินอยู่เป็นประจำในปัจจุบันนี้ว่า อาหารฮาลาล (ซึ่งมีรายละเอียดที่มากกว่านี้เกี่ยวกับอาหารฮาลาล ) และมีเหตุผลในการห้าม เนื่องจากของที่ไม่สะอาด หรือสัตว์ที่ตายเองโดยไม่ผ่านการเชือด ในเลือดของสัตว์ย่อมมีเชื้อโรคเจือปนอยู่ เลือดที่ไม่ได้รินไหลออกจากร่าง แล้วเราไปกินเนื้อของมัน จะเป็นโทษตามมาต่อร่างการของเรามากกว่าเกิดประโยชน์ โดยยึดตามคำสอนในอัลกุรอ่านที่
อัลลอฮได้กล่าวไว้ความว่า "สูเจ้าจงบริโภคสิ่งที่ดีและมีประโยชน์" และ "สูเจ้าจงอย่าบริโภคสิ่งที่เป็นพิษภัยต่อร่างกาย”
จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เราเห็นได้ว่า อิสลามเริ่มต้นด้วยการกำหนดให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าก่อน แล้วก็ให้ชีวิตส่วนบุคคลและสังคมเป็นบททดสอบในการพัฒนาและการสร้างความสัมพันธ์อันนี้ให้แข็งแกร่งขึ้น “อีมาน หรือ ความศรัทธา” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอิสลามที่เกิดขึ้น โดยการที่มนุษย์ยอมรับความสัมพันธ์อันนี้ด้วยสติปัญญาและด้วยความเต็มใจ ส่วน “อิสลาม” นั้นคือการยอมจำนนต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้าในทุก ๆ ด้านของชีวิตและพฤติกรรม และอิสลามก็ได้วางแบบแผนแห่งชีวิตไว้นั้นคือ “ชารีอะห์” ซึ่งมีแหล่งที่มาจาก อัลกุรอ่านและแบบอย่างคำสอน (ซุนนะห์) ของท่านศาสดามูฮัมหมัด
เมื่อสังคมเช่นนี้เกิดขึ้น อัลกุรอ่านและคำสอนของท่านศาสดามูฮัมหมัดก็จะกลายเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้ายและศาสดาคนสุดท้าย เพื่อเชิญชวนมนุษยชาติทั้งมวลให้มายอมรับความจริงอันนี้ แต่พระเจ้าก็ได้ประทานเจตนารมณ์เสรีแก่มนุษย์ และด้วยเจตนารมณ์เสรีอันนี้เอง ที่ทำให้การยอมรับเป็นสิ่งยืนยัน ผลที่ตามมาก็คือมนุษย์จะได้กระทำสิ่งใดไปด้วยความสมัครใจ มิใช่ด้วยการบังคับ ใครก็ตามที่เห็นว่าความจริงในอัลกุรอ่านและที่ท่านศาสดากล่าวไว้เป็นความจริง ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องก้าวออกมายอมจำนนต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้าและด้วยการยอมจำนนนี้เองที่เราเรียกกันว่า “อิสลาม” และคนที่ทำตามนั้นคือ คนที่มอบเจตนารมณ์เสรีของตัวเองให้แก่พระเจ้าและดำเนินชีวิตไปตามบัญชาของพระองค์ก็ได้ชื่อว่า “มุสลิม”
และเมื่อบรรดาผู้ที่ยอมจำนนต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้ามาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน “สังคมมุสลิม” ก็เกิดขึ้น และสังคมนี้จะเป็นสังคมที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสังคมที่วางพื้นฐานอยู่บนเผ่าพันธุ์ สีผิวหรือเขตแดนสังคม เป็นสังคมที่มุสลิมทำสัญญาไว้กับพระเจ้าของเขา สัญญาที่ว่านี่เริ่มต้นตั้งแต่การกล่าวปฏิญาณตนในตอนแรก และบรรดาผู้ที่เข้ามาในสัญญานี้จะยอมรับว่าอัลลอฮเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด จะยอมรับว่าทางนำของพระองค์เป็นสิ่งสูงสุด และจะยอมรับว่าคำสั่งของพระองค์เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุด นอกจากนั้นแล้วพวกเขาจะยอมรับการจำแนกแยกแยะความดีความชั่ว ความผิดความถูก และการอนุมัติหรือสั่งห้ามของพระองค์โดยไม่มีข้อสงสัยด้วย กล่าวโดยสั้น ๆ ก็คือ สังคมอิสลามเป็นสังคมที่ยอมจำกัดอำเภอใจของตัวเองไว้เท่าที่พระเจ้ากำหนดไว้เท่านั้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ มิใช่เจตนารมณ์ของมนุษย์ แต่เจตนารมณ์ของพระเจ้าต่างหากที่เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายในสังคมมุสลิม
ท้ายที่สุดเมื่อสังคมเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว อัลกุรอ่านและคำสอนของท่านศาสดามูฮำหมัดก็จะกลายเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตที่เรียกกันว่า “ชารีอะห์” นั้นเอง และคนสังคมนี้ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามธรรมนูญหรือหลักชารีอะห์ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ที่สังคมใดที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมมุสลิมแล้ว จะไปยอมรับเอาระบบการดำเนินชีวิตอื่นใดที่ขัดต่อหลักชารีอะห์มาปฏิบัติ ถ้าหากว่าสังคมใดทำเช่นนั้นก็เท่ากับว่าสังคมนั้นได้ทำลายสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้า และสังคมนั้นก็จะกลายเป็นสังคมที่มิใช่อิสลาม (อบุล อะลา เมาดูดี, 2542:17)
ตัวอย่างเช่น การที่สังคมใดยอมให้มีการเปิดร้านขายเหล้า สิ่งมึนเมา อบายมุขต่าง ๆ การพนัน การปล่อยปละละเลยให้ลูกหลานติดยาเสพติด หรือหันเหออกไปจากแนวทางของศาสนา สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ อิสลามถือว่าเป็นความชั่วร้ายที่ต้องรีบขจัดออกไป มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้สังคมล่มสลายได้ แต่ที่สำคัญกว่าการขจัดคือต้องสร้างภูมิกันหรือป้อมปราการ ไม่ให้สิ่งเลวร้ายข้างต้นเข้ามาในสังคม อีกทั้งในหลักอิสลามที่แท้จริงแล้ว เน้นที่การป้องกันมากกว่าการแก้ไข เช่น
· ทำไมต้องห้ามดื่มเหล้า เล่นการพนัน การเสี่ยงโชค เพราะสิ่งเหล่านี้ก่อเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ซึ่งในทุกศาสนาก็มีข้อห้ามเช่นกัน ดังในอัลกุรอ่านได้กล่าวไว้หลายตอน เช่น
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว นั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน(มารร้าย) ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ ที่จริงชัยฏอนนั้นเพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกันและการเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนันเท่านั้น และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และการละหมาด แล้วพวกเจ้าจะยุติใหม“ (อัลกุรอ่าน, 5:90-91)
· ทำไมต้องให้สตรีแต่งกายอย่างมิดชิด และไม่ให้เดินทางไกลตามลำพัง หากจำเป็นต้องเดินทาง ก็ต้องมีผู้ปกครองหรือคู่ครองหรือพี่น้องที่เป็นผู้ชายไปด้วย ยกเว้นในกรณีที่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนหรือไปประกอบอาชีพ ก็อนุโลมให้เดินทางคนเดียวได้ แต่ก็ต้องสำรวจก่อนว่าเส้นทางและเวลาที่เดินทางปลอดภัย ไม่อันตรายหรือเป็นที่เปลี่ยว เพราะเพื่อปกป้องและป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต่าง ๆที่มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ถึงแม้ในบางสังคมจะมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิสตรี แต่ในอิสลามถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่สตรีมากกว่า ยิ่งในสังคมปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สตรีต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ และคำสอนเหล่านี้ได้กำหนดไว้นานแล้ว ดังในอัลกุรอ่าน ความว่า :
“ และจงกล่าวเถิดมูฮัมหมัดแก่บรรดามุอ์มินะฮ์ (สตรีมุสลิม) ให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ และให้พวกเธอรักษาอวัยวะของพวกเธอ และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศรีษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ และอย่าให้เธอเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอหรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง (หมายถึงทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึก หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดในเครื่องประดับของพวกเธอ และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์เถิด โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อัลกุรอ่าน, 24:31)
· ทำไมต้องห้ามการกินดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยนำมาซึ่งการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังได้กล่าวไว้ในอัลกุรอ่านหลายครั้ง เช่น
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงอย่ากินดอกเบี้ยหลายเท่าที่ถูกทบทวีและพวกเขาพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอ่าน, 3:130)
อีกบทหนึ่งความว่า :
“และเนื่องด้วยการที่พวกเขาเอาดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่พวกเขาถูกห้ามในเรื่องนั้น และเนื่องด้วยการที่พวกเขากินทรัพย์ของผู้คนโดยไม่ชอบ และเราได้เตรียมไว้แล้ว สำหรับผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งการลงโทษอันเจ็บแสบ” (อัลกุรอ่าน, 4:161)
0 Comments:
Post a Comment
<< Home