My living room

Our loss is our gain

Saturday, August 13, 2005

Introduction to Islam (2)




อิสลามคืออะไร

โดยทางภาษา คำว่า "อิสลาม" มาจากรากคำภาษาอาหรับว่า "สะลิมะ" ซึ่งแปลว่า"เขานอบน้อมยอมจำนน, เขาเข้าสู่สันติ, เขาปลอดภัย" ดังนั้นอิสลามจึงมีความหมายว่า "การเข้าสู่ความสงบหรือความสันติ" ซึ่งจะเป็นไปได้ก็โดยการยอมจำนนต่อเจตนารมณ์ของอัลลอฮ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงแต่เพียงพระองค์เดียว

อิสลามมิได้เป็นแค่เพียงศาสนาในความหมายที่คนทั่วๆไปเข้าใจกัน หากแต่อิสลามเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน ซึ่งแนวทางนี้พระเจ้าทรงประทานมาให้แก่มนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสันติในโลกนี้และได้รับความรอดพ้นในโลกหน้า แนวทางที่ว่านี้เราจะได้พบจากคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นคำสอนของพระองค์และจากคำสอนของศาสดามุฮัมมัด ในการประทานอิสลามมาให้แก่มนุษย์นั้น พระองค์ได้ทรงทยอยประทานผ่านศาสดาต่างๆ เป็นเวลาหลายยุคหลายสมัย จนกระทั่งมาสมบูรณ์ ในสมัยของท่านศาสดามูฮัมหมัด และในการประทานอิสลามนี้ พระเจ้ามิได้ทรงบังคับให้มนุษย์ยอมรับ เพราะพระองค์ได้ทรงประทานสติปัญญา และเจตนารมณ์เสรีอันเป็น ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ให้แก่มนุษย์แล้ว มนุษย์จึงมีสิทธิ์เสรี ในการคิดและตัดสินใจว่าจะยอมรับ หรือปฏิเสธอิสลาม ใครก็ตามที่ยอมรับและปฏิบัติตามอิสลามก็ได้ชื่อว่าเป็น "มุสลิม" (ผู้นอบน้อมยอมจำนน) ส่วนใครที่ปฏิเสธอิสลามก็ได้ชื่อว่า "กาฟิร" (ผู้ปฏิเสธ)


ความหมายของศาสนาอิสลามคืออะไร

ศาสนาอิสลาม คือศาสนาที่พระเจ้าทรงประทานมาเพื่อเป็นทางนำให้แก่มนุษย์โดยผ่านทางศาสดามุฮัมหมัด อิสลาม เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึงการยอมจำนนและการเชื่อฟัง ในที่นี้หมายถึงการยอมจำนนและเชื่อฟังต่อพระองค์ โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งผู้ที่ยอมจำนนต่อพระองค์นั้นเรียกว่า มุสลิม

เราทุกคนสามารถเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบๆตัวเราในจักรวาลนี้ ได้ถูกออกแบบและจัดวางอย่างเป็นระเบียบ วัตถุทั้งหลายในท้องฟ้าต่างโคจรไปตามกฎที่ถูกกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่างๆ รวมทั้งโลกที่เราอยู่อาศัย มนุษย์และสิ่งมีชีวิตรวมถึงสิ่งไม่มีชีวิตเช่น พลังงาน วัตถุ ทั้งหมดนี้ล้วนปฏิบัติตามกฎของมันและเจริญเติบโต มีชีวิตและตายตามกฎนั้น ในทางชีววิทยาที่อธิบายถึงการเกิดและการพัฒนาร่างกายของมนุษย์นั้น บ่งบอกถึงการที่มนุษย์ได้รับปัจจัยยังชีพจากธรรมชาติตามกฎที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อวัยวะภายในร่างกายตั้งแต่เนื้อเยื่อที่เล็กที่สุดจนกระทั่งถึงหัวใจและสมองล้วนถูกควบคุมโดยกฎที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว

ด้วยเหตุนี้ตามหลักอิสลามถือว่าทุกสิ่งในจักรวาลล้วนแต่เป็นมุสลิม เพราะมันเชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งและสรรพชีวิตขึ้นในโลกนี้ ผู้ทรงให้ชีวิตและผู้ทรงให้ตาย อัลลอฮ์เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงนามของพระเจ้า ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่าก็อด (God) หลังจากที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกแล้ว พระองค์ก็ทรงประทานแนวทางการดำเนินชีวิตผ่านทางศาสดาต่างๆ ซึ่งศาสดาคนสุดท้ายคือศาสดามุฮัมมัด เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและกำหนดกฎข้อห้ามและข้อปฏิบัติให้แก่มนุษย์


เพื่อที่จะทราบว่าแนวทางการดำเนินชีวิตของอิสลามมีอย่างไรบ้าง จำเป็นต้องทราบและทำความเข้าใจถึงหลักการสำคัญ 2 หลักใหญ่ของอิสลามคือ หลักศรัทธา 6 ประการ และ หลักอิสลาม 5 ประการ ดังนี้ คือ

หลักการศรัทธาหรือหลักอีมาน หมายถึงหลักการที่มุสลิมทุกคนต้องยึดมั่นศรัทธาในจิตใจโดยไม่อาจปฏิเสธหลักการข้อใดได้ หลักการดังกล่าวมี 6 ประการดังนี้

1. การศรัทธาว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้า
การศรัทธาในข้อนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในคุณลักษณะของอัลลอฮด้วย เช่น อัลลอฮ์นั้นมีองค์เดียว, ทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล, ไม่มีบุตร, ไม่มีการเกิดและการดับ อัลลอฮ์ทรงเห็น, ทรงได้ยินและทรงรอบรู้ในทุกสิ่ง อย่างไม่มีข้อจำกัดใดๆ และมุสลิมต้องไม่ตั้งสิ่งใดเพื่อการเคารพสักการะคู่เคียงพระองค์

2. การศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ (เทวทูต) ของอัลลอฮ์
ต้องศรัทธาว่ามลาอิกะฮ์นั้น อัลลอฮทรงสร้างขึ้นจากรัศมี มีจำนวนมากมาย ไม่มีผู้ใดรู้จำนวนที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮ มลาอิกะห์ไม่มีเพศ ไม่กินไม่ดื่ม หรือหลับนอน ถูกสร้างเพื่อการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์ นอกจากนั้นเราพึงทราบลักษณะอื่นๆ ของมลาอิกะฮ์ด้วย เช่น มลาอิกะฮ์ไม่ฝ่าฝืนคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์, มลาอิกะฮ์นั้นไม่มีบิดามารดา ไม่มีครอบครัว บรรดามลาอิกะห์ที่สำคัญ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งทั้งหลายที่เราต้องทราบมีทั้งหมด 10 ท่าน ดังนี้
· ญิบรีล ทำหน้าที่นำบัญชา หรือวะห์ยูจากอัลลอฮ มามอบแด่ศาสดา
· มีกาอีล ทำหน้าที่นำลาภผลหรือริสกี มาให้แก่มวลมนุษยชาติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกนี้
· อิสรอฟีล ทำหน้าที่เป่าสัญญาณเพื่อให้รู้ว่าวาระวันสิ้นโลกได้มาถึงแล้ว
· อิสรออีล ทำหน้าที่เอาชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
· ริดวาน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสรวงสวรรค์
· มาลิก ทำหน้าที่ควบคุมดูแลนรก
· มุงกัรและนากิร มีหน้าที่ไต่สวนผู้ตายในหลุมฝังศพ
· กิรอมังและกาตีบัน ทำหน้าที่ประจำอยู่ข้างขวาและข้างซ้ายของมนุษย์เพื่อบันทึกกรรมดีและกรรมชั่วที่มนุษย์ทำขึ้น

3. การศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮ์
การศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮ์นั้น เราพึงทราบด้วยว่านอกจากคัมภีร์
อัลกุรอ่านที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่ศาสดามุฮัมมัดเพื่อเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคนแล้ว เรายังมีคัมภีร์อื่นๆ ซึ่งอัลลอฮ์ประทานแก่ศาสดาท่านอื่น ๆ ด้วยเช่น คัมภีร์เตารอตประทานแก่ศาสดามูซา(โมเสส), คัมภีร์อิลญีนประทานแก่ศาสดาอีซา (เยซู), คัมภีร์ซาบูรประทานแก่ศาสดาดาวูด

4. การศรัทธาในบรรดาศาสดาของอัลลอฮ์
ในภาษาอาหรับจะเรียกศาสดาว่า นาบี และรอซูล การศรัทธาในศาสดานั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ศาสดาหมายถึง ผู้รับสาส์นหรือคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์ มาเผยแพร่แก่คนทั่วไปซึ่งมีจำนวนมากมาย แต่มีเพียง ๒๕ ท่านเท่านั้น ที่มุสลิมต้องทราบ ดังมีชื่อปรากฏอยู่ในอัลกุรอ่าน เช่น อาดัม,นูอ์,ฮูด,อิบรอฮีม,ดาวุด,มูซา, อีซามุฮัมหมัด เป็นต้น และนอกจากนี้ต้องเชื่อมั่นศรัทธาด้วยว่าศาสดามุฮัมหมัดนั้น เป็นศาสดาท่านสุดท้ายจะไม่มีศาสดาภายหลังจากท่านอีก ส่วนลักษณะของศาสดานั้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลย เช่น ศาสดาเป็นผู้มีสัจจะ,มีความซื่อสัตย์,มีความเฉลียวฉลาด,มีความรอบรู้,เป็นต้น
5. การศรัทธาในวันสิ้นโลก
มุสลิมทุกคนจะต้องมีความศรัทธาว่าโลกนี้เป็นถิ่นพำนักชั่วคราวและเป็นสถานที่ทดสอบเท่านั้น จะมีวันหนึ่งซึ่งอัลลอฮ์ ทรงกำหนดให้เป็นวันแห่งการดับสูญของทุกสิ่ง เรียกว่าวันกียามัต และทุกชีวิตบนโลกนี้ตั้งแต่บรรพกาลจะถูกนำมารวมกัน ณ ที่แห่งหนึ่งคือ ทุ่งมาซาร์ เพื่อรับการตัดสินในทุกการงานที่เคยปฏิบัติไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และ ณ วันนั้นผลกรรมที่เขาได้กระทำไว้บนโลกนี้ พระเจ้าจะพิพากษาว่ามนุษย์คนใดจะได้เข้าสวรรค์หรือตกนรก ซึ่งจะเป็นถิ่นพำนักอันเป็นนิรันดร์ของทุกชีวิตอย่างแท้จริง นั้นคือโลกอาคีเราะห์หรือโลกหน้านั่นเอง และก่อนจะถึงวันสิ้นโลกจะมีสัญญาณเกิดขึ้นก่อนมากมายที่เป็นทั้งสัญญาณเล็กและใหญ่ ดังเช่น
· วิชาความรู้จะถูกลืม ความรู้จะขาดการถ่ายทอด
· บัญญัติ คำสอนศาสนาจะถูกละเลย คนไม่ใส่ใจคำสอนศาสนา ศีลธรรมเสื่อม
· เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง
· ความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงในสังคมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา
· การสู้รบกันจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
· ความรับผิดชอบจะถูกละทิ้ง คนจะไม่มีสัจจะมากขึ้น
· การทำผิดประเวณีทางเพศจะเพิ่มมากขึ้น
· การดื่มสุราจะแพร่หลาย
· มนุษย์จะหลงใหลในทรัพย์สินเงินทอง นับถือเงินเป็นใหญ่
· ระบบดอกเบี้ยจะเฟื่องฟู เป็นต้น
ส่วนสัญญาณใหญ่ เช่น ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกและตกทางทิศตะวันออก

6.การศรัทธาในกฎกำหนดสภาวการณ์ว่ามาจากอัลลอฮ์ทั้งสิ้น
คือระเบียบอันรัดกุมที่อัลลอฮได้กำหนดไว้แก่โลกและมนุษยชาติ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ กฎที่ตายตัว เป็นกฎที่ดำเนินไปตามพระประสงค์ เช่น การถือกำเนิด ชาติพันธ์ รูปร่างหน้าตา การโคจรของดวงดาว เป็นต้น และกฎที่ไม่ตายตัว โดยดำเนินไปตามความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล กิจกรรมต่าง ๆ อยู่ที่ดุลยพินิจของมนุษย์ในอันที่จะใช้สติปัญญาที่พระองค์ประทานมาเลือกปฏิบัติตามข้อห้ามและข้อใช้ต่าง ๆ เพื่อการดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ใช่ถือว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาแล้ว ดังนั้นจะทำอะไรก็ได้ที่จะนำไปสู่อันตราย เช่น ความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

หลักอิสลามหรือหลักการปฏิบัติ หมายถึงสิ่งซึ่งมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนมีอยู่ด้วยกัน 5 ประการดังนี้


1. การปฏิญาณตน
หมายถึงการเปล่งวาจาพร้อมการศรัทธาที่เกิดจากภายในใจว่า

"อัชฮาดุอัลลาฮ์อิลาฮะอิลลัลลอฮ์ วะอัชฮาดุอันนะมุฮัมมะดุรร่อซูลลุลลอฮ์ "

ซึ่งมีความหมายว่า “ ข้าขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์และนาบีมุฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ “ นอกจากนี้เราพึงทำความเข้าใจด้วยว่า การเปล่งวาจาดังกล่าวต้องมาจากการศรัทธาในจิตใจของเราเองไม่ใช่จากการบังคับขู่เข็ญของผู้ใดหรือแม้แต่การจูงใจด้วยผลประโยชน์บางอย่าง ทั้งนี้เพราะเมื่อเราปฏิญาณตนเช่นนั้นแล้ว หมายถึงการยอมรับอย่างเต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่างของพระองค์ และเชื่อฟังในทุกคำสั่งสอนของท่านศาสดานั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเรายังคลางแคลงสงสัยก็จำเป็นต้องศึกษาอิสลามให้เข้าใจอย่างชัดแจ้งเสียก่อนที่จะกล่าวปฏิญาณตนออกมา

2. การละหมาด วันละ 5 เวลา
เป็นการแสดงความเคารพสักการะต่ออัลลอฮทั้งทางร่างกาย วาจา และจิตใจเป็นการควบคุมพฤติกรรมของมุสลิมให้ตั้งมั่นในความดี ละเว้นความชั่วและทำจิตใจให้บริสุทธิ์ละหมาด 5 เวลา มีดังนี้ 1) ละหมาดซุบฮิ เวลาหัวรุ่ง 2) ละหมาดดุฮริ เวลากลางวัน 3)ละหมาดอัศริ เวลาเย็น 4) ละหมาดมักริบ เวลาหัวค่ำ และ 5) ละหมาดอิชา เวลากลางคืน ซึ่งการละหมาดนี้ถือว่าเป็นเสาหลักของศาสนา เนื่องจากเป็นการแสดงความภักดีต่ออัลลอฮ์ที่ชัดเจนที่สุด

3. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
หมายถึงการละเว้นการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการละเว้นการกระทำสิ่งต้องห้าม และสิ่งไร้สาระทุกชนิด เป็นการถือศีลอด ทั้งในด้านกาย คือไม่กินไม่ดื่ม วาจาคือการกล่าวร้าย นินทา ด่าทอ การพูดที่ไร้สาระ และใจคือ ความอดทน อดกลั้น ไม่คิดในทางร้าย ๆ เช่น อิจฉา ริษยา พยาบาท ภายในช่วงเวลาที่ศาสนากำหนดไว้ กล่าวคือตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงตะวันลับขอบฟ้า นอกจากนี้ในเดือนดังกล่าวอิสลามยังสนับสนุนให้มุสลิมเพิ่มพูนการทำความดีในด้านต่างๆให้มากขึ้นอีกด้วย เช่น การบริจาคแก่คนยากจน การเลี้ยงอาหารละศีลอด เป็นต้น และการถือศีลอดจะมีข้อยกเว้นกับบุคคลต่อไปนี้
· คนชรา
· คนป่วยเรื้อรังที่แพทย์วินิจฉัยว่ารักษาไม่หายหรือสุขภาพไม่ปกติ หากถือศีลอดแล้วจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
· หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนที่ต้องให้นมแก่ทารก
· บุคคลที่ทำงานใช้แรงงานหนัก ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจและศรัทธาของตนเองว่าจะถือศีลอดได้หรือไม่
· บุคคลที่อยู่ระหว่างการเดินทางไกล
· หญิงขณะมีรอบเดือนและหลังคลอด

4. การบริจาคทานหรือซะกาต
ซะกาต ความหมายตามภาษา คือ การทำให้สะอาดและการเพิ่มพูน หมายถึงการบริจาคเงิน ทอง ทรัพย์สินอื่นใด ตามเงื่อนไขของอิสลาม ซึ่งนั่นก็หมายความว่าหากเราเป็นผู้มีเงินออมตามจำนวนที่อิสลามกำหนดไว้ เราย่อมเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายซะกาตในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปีจากเงินออมนั้น จุดประสงค์ของการบัญญัติให้มุสลิมจ่ายซะกาต ก็เพื่อที่จะกระจายรายได้จากมุสลิมผู้มีรายได้ไปช่วยเหลือบุคคล 8 ประเภทที่ระบุไว้ในอัลกุรอ่าน คือ
· คนยากจน
· คนขัดสนและอนาถา
· คนที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม
· คนเดินทางไกลหรือผ้พลัดถิ่น
· คนที่ต่อสู้ในแนวทางศาสนา
· ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้จัดเก็บซะกาตหรือดูแลกองทุนซะกาต
· ผู้ที่มีหนี้สินเพื่อไถ่หนี้
· ทาสที่จะนำทรัพย์สินไปไถ่ตัวหรือผู้สูญเสียอิสรภาพเนื่องจากเงื่อนไขทางการเงิน

ซะกาตมีลักษณะคล้ายๆกับระบบภาษีที่เราต้องจ่ายให้รัฐ แต่มีความยิ่งใหญ่กว่าภาษีและมีคุณประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก เป็นการลดช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจช่วยแก้ปัญหาความยากจน ส่วนผู้ใดที่มีทรัพย์สินเงินทองครบตามจำนวนที่ศาสนากำหนดแต่ไม่จ่ายซะกาต อิสลามถือว่าทรัพย์สินที่เขาครอบครองอยู่นั้น เป็นทรัพย์สินที่ไม่บริสุทธิ์หรือไม่สะอาดนั้นเอง ความสำคัญของซะกาตนั้นในอัลกุรอ่านได้กล่าวไว้ถึง 82 บท ดังเช่น :

"และพวกที่สะสมทองคำและเงิน โดยไม่บริจาคซะกาต และไม่นำออกมาใช้จ่ายในวิถีทางศาสนาของอัลลอฮฺ มุฮัมมัด จงแจ้งข่าวการทรมานอันสาหัสที่เป็นข่าวดีสำหรับพวกนั้น ณ วันที่ไฟนรก "ญะฮันนัม" จะทำให้เกิดความร้อนแรง แล้วมันจะถูกนำมารีดบนหน้าผาก สีข้าง และหลังของพวกนั้น นี่แหละผลร้ายของพวกเจ้าทั้งหลายที่พยายามสะสมไว้สำหรับการส่วนตัวของพวกเจ้า โดยไม่ยอมบริจาคซะกาต ดังนั้นพวกเจ้าจงลิ้มรสทรัพย์ที่พวกเจ้าได้สะสมมันไว้โดยไม่ยอมบริจาคเถิด" (อัลกุรอ่าน, 9:35)

5.การไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครมักกะฮ์ครั้งหนึ่งในชีวิต
หากมีความสามารถหมายถึงการเดินทางไปยังประเทศซาอุดิอารเบีย เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮ์ตามแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมหมัด ทั้งนี้เฉพาะผู้ที่มีความสามารถทางด้านการเงินและไม่มีอุปสรรคทางด้านสุขภาพและการเดินทางด้วย

0 Comments:

Post a Comment

<< Home